5 สิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้ ก่อนเริ่มการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

5 สิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้ ก่อนเริ่มการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

การทำธุรกิจส่งออก (Export Business) อาจเป็นความฝันของผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจหลายๆ ท่าน เพราะการส่งออกเปรียบเสมือนการออกไปค้นหาตลาดใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ และยังมีโอกาสได้ขยายกิจการต่างๆ ไปนอกประเทศด้วย แต่การส่งออกมีหลายสิ่งที่ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจเช่นเดียวกัน ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปดู 5 สิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้ ก่อนจะเริ่มส่งออกสินค้า เพื่อให้การส่งออกราบรื่น ไร้ปัญหา และช่วยให้ธุรกิจส่งออกของเราเติบโตขึ้น

สิ่งที่ควรรู้ก่อนส่งออก มีอะไรบ้าง

1. กฎระเบียบและข้อบังคับ

สิ่งที่ผู้ประกอบการส่งออกต้องใส่ใจเป็นอันดับแรก นั่นคือเรื่องของกฎระเบียบและข้อบังคับในการส่งออก เพราะด้วยข้อกำหนดต่างๆ ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน บางประเทศสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ แต่บางประเทศอาจห้ามนำเข้าสินค้าประเภทเดียวกัน หรือต้องได้รับมาตรฐาน การอนุญาตบางอย่างเสียก่อน จึงจะสามารถส่งออกไปได้ ทำให้การศึกษากฎระเบียบและข้อบังคับให้ถี่ถ้วนจนเข้าใจจะช่วยให้ฝั่งผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจ วางแผนการส่งออก ทั้งการเลือกสินค้าที่สามารถส่งออกได้ และประเทศที่เหมาะสมต่อการส่งออกได้

2. เอกสารสำหรับส่งออก

ในขั้นตอนการส่งออกสินค้าต่างๆ ย่อมจำเป็นต้องใช้เอกสารที่สำคัญ เพื่อใช้เป็นหลักฐานให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกับผู้ให้บริการขนส่งต่างประเทศ และหน่วยงานรัฐบาลในแต่ละประเทศ ซึ่งแต่ละหน่วยงาน สินค้าส่งออกและขั้นตอนการส่งออกจะใช้เอกสารที่แตกต่างกันออกไป การศึกษาและเตรียมเอกสารให้พร้อมก็จะช่วยให้การส่งออกนั้นราบรื่นขึ้น และลดความยุ่งยากในการดำเนินการได้
โดยเอกสารสำคัญสำหรับส่งออก จะมีดังนี้

2.1 ใบขนสินค้าขาออก (Export Declaration)

เป็นเอกสารที่ใช้ยื่นให้กรมศุลกากร เพื่อใช้ในพิธีการส่งออก โดยภายในเอกสาร จะแสดงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการส่งออก เช่น รายละเอียดของสินค้า จำนวนหีบห่อ น้ำหนัก วันที่ขนส่ง ประเทศต้นทาง/ปลายทาง

2.2 ใบแสดงรายการสินค้า (Invoice)

เป็นเอกสารที่ใช้แสดงรายการสินค้า ทั้งจำนวนมูลค่าสินค้า ผู้รับปลายทาง ผู้ส่งสินค้า เงื่อนไขการสั่งซื้อต่างๆ โดยใบแสดงรายการสินค้าจะถูกใช้เพื่อยืนยันการซื้อขายระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออก เพื่อใช้แสดงต่อศุลกากรของแต่ละประเทศ

2.3 ใบกำกับหีบห่อ (Packing List)

เป็นเอกสารที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับหีบห่อของสินค้า เช่น ขนาดหีบห่อและน้ำหนัก เป็นเอกสารที่ใช้ยื่นให้กรมศุลกากรและจัดการการขนส่ง

2.4 ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading)

เป็นเอกสารที่ใช้แสดงรายการสินค้าสำหรับการส่งออก ข้อมูลของพัสดุ และการขนส่ง เพื่อให้พนักงานขนส่งและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแหล่งที่มา ปลายทาง และรายละเอียดของสินค้าได้

2.5 ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)

เป็นเอกสารที่ใช้ระบุถึงแหล่งที่มาของสินค้า โดยจะใช้เพื่อขอรับสิทธิ์ลดภาษีอากรในการนำเข้าและส่งออกสำหรับบางประเทศ

2.6 ใบอนุญาตสำหรับสินค้าควบคุมขาออก (Export License)

เป็นเอกสารที่ทางรัฐบาลเป็นผู้ออกให้สำหรับสินค้าควบคุมพิเศษ เพื่อแสดงว่าสินค้าดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ทำการส่งออกได้ โดยหากสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าควบคุม ก็ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต

2.7 เอกสารอื่นๆ ประกอบการส่งออก

เอกสารอื่นๆ ที่ใช้อ้างอิงในขั้นตอนต่างๆ เช่น สำเนาเอกสารส่วนบุคคล แคตตาล็อตสินค้า และแบบฟอร์มอื่นๆ เป็นต้น

 

3. การค้าระหว่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจก่อนเริ่มการส่งออก เนื่องจากธุรกิจระหว่างประเทศต่างๆ มีความซับซ้อนมากกว่าการค้าภายในประเทศอยู่ไม่น้อย เนื่องจากต้องเผชิญทั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และระบบกฎหมายที่หลากหลาย 

3.1 ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

ประเทศไทยมีข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีข้อกำหนดและผลประโยชน์ที่สำคัญ อย่างเช่นการลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้า-ส่งออกของสินค้าบางประเภท โดยมีตัวอย่างข้อตกลงการค้าที่สำคัญ ดังนี้

  • ข้อตกลงเขตการค้าเสรี  (FTA)

ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ที่มุ่งเน้นการลดหรือยกเลิกอุปสรรคทางการค้า ทั้งภาษีศุลกากรและข้อจำกัดที่ไม่ใช่ภาษี ช่วยให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศคู่สัญญาเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น โดยประเทศไทยได้ทำข้อตกลง FTA กับหลายประเทศและกลุ่มประเทศ เช่น จีน ออสเตรเลีย อินเดีย และสหภาพยุโรป ซึ่งช่วยให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งของไปจีน และประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ

  • ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

ข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ที่ช่วยลดหรือยกเลิกภาษีและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศสมาชิกจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างเช่นการส่งของไปสิงคโปร์มีต้นทุนที่ต่ำลงและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

  • ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)

ข้อตกลงที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยลดหรือภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการ เช่น ผลไม้ อาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์บางรายการ

  • ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA)

ข้อตกลงที่มุ่งเน้นการลดภาษีสินค้า 82 รายการระหว่างไทยกับอินเดีย ครอบคลุมสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศสามารถเข้าถึงตลาดอินเดียที่มีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคนได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสในการขยายธุรกิจส่งออก

3.2 เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ

หรือที่มักเรียกว่า Incoterms หรือข้อกำหนดการค้าสากล เป็นมาตรฐานที่กำหนดความรับผิดชอบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งความรับผิดชอบในด้านค่าใช้จ่าย ความเสี่ยง และหน้าที่ในการจัดการสินค้า โดยผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้ให้ดีก่อนตกลง ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยเงื่อนไขการค้าที่นิยมใช้ในการส่งออก มีดังนี้

  • EXW (Ex Works): ผู้ขายส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ของผู้ขาย ผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการขนส่งและความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

  • FOB (Free on Board): ผู้ขายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างจนกระทั่งสินค้าถูกขนขึ้นเรือ หรือเครื่องบิน หลังจากนั้นผู้ซื้อจะรับความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายต่างๆ

  • CIF (Cost, Insurance and Freight): ผู้ขายรับผิดชอบค่าขนส่งและประกันภัยจนถึงท่าเรือปลายทาง แต่ความเสี่ยงจะถูกโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อสินค้าถึงท่าเรือปลายทางแล้ว


4. พิธีการส่งออกที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร

พิธีการส่งออกเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องส่งสินค้าออกนอกประเทศ โดยผู้ส่งออกจำเป็นต้องลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรในระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (Paperless) กับกรมศุลกากรก่อน จากนั้นจึงสามารถยื่นใบขนสินค้าขาออกพร้อมเอกสารประกอบต่างๆ เช่น ใบแสดงรายการสินค้า และใบอนุญาตส่งออก โดยกรมศุลกากรจะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและสินค้าก่อนที่จะอนุมัติให้ทำการส่งออกได้

หลังจากที่เอกสารได้รับการอนุมัติแล้ว ระบบจะกำหนดว่าสินค้านั้นต้องผ่านการดำเนินการตามคำสั่งการตรวจ ซึ่งแบ่งเป็น "ยกเว้นการตรวจ" (Green Line) หรือ "ให้ตรวจสอบ" (Red Line) กรณีที่เป็นการยกเว้น ผู้ส่งออกสามารถนำสินค้าไปส่งมอบให้กับผู้รับขนส่งได้ทันที แต่หากเป็นถูกตรวจ ผู้ส่งออกต้องนำสินค้าไปให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบก่อน เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งหมดได้อย่างไม่มีปัญหาแล้ว ผู้ส่งออกจะได้รับใบขนสินค้าขาออก ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในการทำการส่งออกสินค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วทำการส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทาง

5. เลือกการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศที่เหมาะสม

การเลือกวิธีการส่งออกสินค้าที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันโดยรูปแบบการส่งออกไปต่างประเทศ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • การขนส่งทางอากาศ (Air Freight): ขนส่งด้วยเครื่องบิน รวดเร็วแต่มีค่าใช้จ่ายสูง เหมาะสำหรับสินค้ามูลค่าสูงหรือต้องการความรวดเร็ว

  • การขนส่งทางทะเล (Sea Freight): ขนส่งด้วยเรือ มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการส่งทางอากาศ แต่ใช้เวลานาน เหมาะสำหรับสินค้าที่มีน้ำหนักมากหรือขนาดใหญ่

  • การขนส่งทางบก (Land Freight): ขนส่งด้วยรถยนต์หรือรถไฟ เหมาะสำหรับการส่งสินค้าในระยะสั้น ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ควรพิจารณาเลือกใช้บริษัทขนส่งต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือและมีความเชี่ยวชาญในการส่งของไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศปลายทางที่ต้องการ เช่น การส่งของไปอเมริกา หรือส่งของไปสิงคโปร์ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะถูกส่งถึงปลายทางได้อย่างราบรื่น ปลอดภัยและตรงเวลา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ในการส่งออก และช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้ และบริษัทขนส่งยังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอน พิธีการศุลกากรและข้อกำหนดของแต่ละประเทศได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงแรงในการส่งออก และปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญการส่งออกจัดการให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพที่สุด

ส่งของไปต่างประเทศกับ FBA Easy สะดวกกว่าที่เคย

FBA Easy คือ แพลตฟอร์มบริการส่งของไปต่างประเทศ ตั้งแต่การส่งเอกสาร ส่งพัสดุ และจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศครอบคลุมทั่วโลก ไม่ว่าจะส่งของไปสิงคโปร์ ส่งของไปฮ่องกง ส่งของไปอเมริกา ส่งของไปจีน ยุโรป และเอเชีย พร้อมทางเลือกการขนส่งที่หลากหลายทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ผ่านความร่วมมือกับบริษัทขนส่งชั้นนำกว่า 10 ราย รวมถึงมีบริการ Amazon FBA การจัดส่งสินค้าไปยังคลังสินค้าของ Amazon ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และเยอรมัน FBA Easy ตอบโจทย์ทุกความต้องการเรื่องส่งของไปต่างประเทศ

ติดต่อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Line: @kartonexpress

Email: admin@karton.express

Facebook: https://www.facebook.com/fbaeasy